คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกรรมในโทรศัพท์อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากรรมออนไลน์ได้ เพราะมีบุคคลที่จ้องจะหาผลประโยชน์โดยการหลอกลวงผู้อื่น วันนี้มาดูวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพวกเหล่ามิจฉาชีพกัน
9 วิธีป้องกันไม่ให้เงินในบัญชีตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ
1.อย่าใช้ Wifi สาธารณะ
หลายคนใช้ Wifi ตามที่สาธารณะต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ ต่างๆ ทำธุรกรรมผ่านแอปฯ ธนาคาร แต่มีบางอันที่คอยดักจับข้อมูล หากเราทำธุรกรรมโดยใช้ Wifi แบบนี้ ข้อมูล รหัสผ่านในแอปฯธนาคารอาจไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพก็เป็นได้ ฉะนั้นควรเลือกแหล่งที่น่าเชื่อถือ แนะนำว่าการทำธุรกรรมผ่านแอปฯ ธนาคารควรใช้อินเทอร์เน็ตจากซิมในมือถือจะดีที่สุด
2.เปิดการแจ้งเตือนของแอปฯ ธนาคารไว้ด้วย
แอปธนาคารทุกแอปจะมีการแจ้งเตือนเพื่อให้รู้ว่าเงินในบัญชีมีเงินเข้าออกเท่าไหร่ หากเราไม่ได้ถอนเงิน แต่มีการแจ้งเตือนว่าถอนเงิน แสดงว่าต้องมีใครสักคนที่เอาเงินของเราออกจากบัญชี ซึ่งคาดเดาได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ หากเปิดการแจ้งเตือนไว้ เราก็สามารถติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชีได้ทันที
3.หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอปฯที่นอกเหนือจาก App Store , Play Store
การติดตั้งแอปที่นอกจาก App Store , Play Store เป็นสิ่งที่อันตรายมากกับโทรศัพท์ของเรา เพราะแอปพวกนี้ไม่ได้มีการคัดกรองมา แอปบางตัวอาจมีมัลแวร์ที่คอยดูดข้อมูลในโทรศัพท์ แน่นอนว่าถ้าหากมีข้อมูลที่เกี่ยวกับบัญชีธนาคารอยู่ในเครื่องก็ต้องโดนไปด้วยเช่นกัน
4.อย่าเผยรหัส 3 ตัวหลังบัตร
สำหรับผู้ที่ใช้บัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต ไม่ควรให้คนอื่นเห็นรหัส 3 ตัวหรือ CVV หลังบัตร เพราะมิจฉาชีพสามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องใช้รหัส OTP ดังนั้นในการใช้บัตรรูดซื้อสินค้าควรปิดไม่ให้เห็นรหัส 3 ตัว โดยใช้กระดาษหรือสติ๊กเกอร์ปิดก็ช่วยได้
5.ตั้งรหัสผ่านให้ยากเข้าไว้
การตั้งรหัสผ่านง่าย ก็จะง่ายต่อการเดาเช่นกัน ดังนั้นการตั้งรหัสควรเป็นรหัสที่คาดเดายาก ไม่ใช่ตัวเลขเรียงกันหรือตัวเลขซ้ำๆ ควรเป็นรหัสที่มีความเป็นส่วนตัว คนอื่นรู้ได้ยาก และไม่ใช้รหัสผ่านซ้ำกับบัญชีอื่นๆ
6.อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว
หากมีผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาขอข้อมูลส่วนตัว เช่นหมายเลขบัตรเครดิต/เดบิต หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ อย่าไปหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะไม่มีธนาคารแห่งไหนมีนโยบายขอข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์

7.ระวังเว็บไซต์ปลอม
มิจฉาชีพจะสร้างเว็บไซต์ที่เหมือนกับเว็บธนาคารจริงๆขึ้นมา และส่งลิ้งก์ผ่านทางข้อความไปโทรศัพท์ เพื่อดักเอาข้อมูลอีเมล ,รหัสผ่าน บัตรประชาชน หรือข้อมูลส่วนตัว จากนั้นมิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านี้มาสวมรอยเป็นเรา เพื่อถอนเงินออกจากบัญชีหรือทำสิ่งผิดกฏหมาย ดังนั้นก่อนจะกรอกข้อมูลใดๆลงไป ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเป็นเว็บของธนาคารจริงๆหรือไม่
8.เช็คยอดเงินในบัญชีบ่อยๆ
การเช็คยอดเงินในบัญชีบ่อยๆ จะทำให้รู้ยอดเงินอยู่ตลอดเวลา หากมียอดเงินเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยที่ไม่ได้ฝาก – ถอนในช่วงนั้น เราสามารถแจ้งธนาคารให้ตรวจสอบได้ เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพที่กำลังสวมรอยเป็นตัวเราแล้วทำธุรกรรมอยู่ก็เป็นได้
9.อย่าผูกบัญชีธนาคารไว้กับแอปฯหรือเว็บไซต์
อย่าผูกบัญชีธนาคารไว้กับแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่ไม่มีการยืนยันด้วยรหัส OTP เพราะถ้ามิจฉาชีพได้อีเมลและรหัสผ่านไป ก็สามารถใช้เงินจากในบัญชีได้เลย โดยไม่ต้องมีการยืนยันและถ้าเป็นไปได้ไม่ควรผูกบัญชีธนาคารไว้กับเว็บไซต์
เป็นยังไงกันบ้างกับวิธีป้องกันเงินออกจากบัญชีโดยมิจฉาชีพ ถ้าทำได้ตามนี้รับรองได้เลยว่าจะปลอดภัยจากมิจฉาชีพอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม มิจฉาชีพก็จะสรรหาวิธีการใหม่ๆเพื่อมาเอาเงินของเราไป ดังนั้นจึงควรติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ